ในสภาพสังคมปัจจุบันที่เน้นความเร็ว ประเภทยิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งเร็วยิ่งเก่ง วงจรของความเร็วก็เลยต้องทำให้ผู้คนต้องคิดทำอะไรเร็วๆ ไปหมดแต่ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร
เริ่มตั้งแต่ตื่นเช้ามาก็รีบอาบน้ำ รีบแต่งตัวไปทำงานเพื่อให้ทันตอกบัตร รีบกินอาหารในแต่ละมื้อ บางคนถึงกับต้องรวบมื้อเช้ากับมื้อเที่ยงเข้าด้วยกัน เสร็จแล้วก็เร่งทำงานให้เสร็จ เวลาขับรถก็เร่งรีบอยากให้ถึงที่หมายปลายทางโดยเร็ว ใครขับรถช้าก็หงุดหงิด ใครทำอะไรชักช้าก็รำคาญ ยิ่งถ้าเป็นลูกหลานของตัวเองทำอะไรช้าก็มักต่อว่าแล้วจะทำมาหากินอะไรได้ทัน หรือก็ประมาณว่าไม่ทันคน
บางคนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าที่รีบอยู่ทุกวี่วัน จะรีบไปไหน รีบไปทำไม แต่ที่ทำเพราะว่ารีบจนเป็นนิสัย จนในที่สุดผู้คนในสังคม โดยเฉพาะคนเมืองก็กลายเป็นคนเร่งรีบไปซะทุกเรื่อง ในบางทีก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเรื่องคนไทยเข้าคิวไม่เป็น แท้จริงอาจไม่ใช่เพราะไม่เคารพในสิทธิของคนอื่นเท่านั้น
แต่เป็นเพราะใจร้อน เห็นคิวยาวก็เริ่มทนไม่ไหว หน้านิ่วคิ้วขมวด ความอดทนต่ำ รอคอยไม่ได้ ก็เลยอยากแซงคนอื่น เพราะสนใจแต่ว่าตัวเองเร่งรีบ ในที่นี้ความเร่งรีบไม่ได้หมายถึงแค่การเร่งรีบในการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึง การเร่งการบริโภคในทุกเรื่อง กระบวนการผลิตก็เร่ง ผู้บริโภคก็ถูกเร่ง และท้ายสุดก็เป็นการเร่งทำลายสิ่งแวดล้อมไปด้วย
ยิ่งโลกยุคปัจจุบันเป็นโลกแห่งเทคโนโลยี ยิ่งทำให้ผู้คนเน้นเรื่องความเร็วในทุกมิติของวิถีชีวิต เพราะผู้คนก็ถูกปลูกฝังให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยความรวดเร็วเพียงใช้ปลายนิ้วมือในเวลาไม่กี่นาทีใช่หรือไม่ !!…ความเร็วหรือ Speed นี่แหละที่ทำให้สังคมมีปัญหา ..!!! ดิฉันไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับความเร็วในทุกเรื่อง เพราะเจ้าความเร็วที่ว่า ทำให้ชีวิตมนุษย์ทุกวันนี้กำลังจะกลายเป็นหุ่นยนต์กันไปหมด โดยไม่สนใจเรื่องจิตใจและจิตวิญญาณ
ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่หมกมุ่นอยู่กับเจ้าเทคโนโลยีเต็มไปทั่วทุกหัวระแหง บรรดาสารพัดสมาร์ทโฟนก็ออกมาใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่นับวันวิ่งไล่เทคโนโลยีและหลงใหลในเรื่องความเร็ว ลองพินิจพิเคราะห์ดูเถอะจะพบว่ามีสิ่งหนึ่งที่กำลังหายไปจากสังคมโลกมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ ความนิ่ง หรือ ความสงบ หรือ การมีสมาธิ หรือการได้อยู่กับตัวเอง เพราะทุกคนปรารถนาแต่ความเร่งรีบ รวดเร็ว
ในวงการแพทย์ก็มีจำนวนผู้ป่วยเด็กที่พ่อแม่ส่งไปทำการรักษาด้วยอาการสมาธิสั้นก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่เองก็ตั้งคำถามจากพฤติกรรมของลูกเพิ่มมากขึ้น เช่น
- ลูกไม่รู้จักการรอคอย
- ลูกไม่สามารถทำสิ่งใดนานๆ ติดต่อกันได้
- ลูกอารมณ์ร้อน เอาแต่ใจตัวเอง
- ลูกซนมาก อยู่ไม่นิ่ง
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องลองเหลียวกลับมามองว่า สารพัดอาการที่เกิดขึ้นกับลูกมาจากสภาพความเร่งรีบของผู้คนในครอบครัว ด้วยหรือเปล่า ถ้าใช่ล่ะก็เห็นทีต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันแล้วล่ะค่ะ
- ประการแรก ลองปรับวิถีชีวิตของตัวเองและสมาชิกในครอบครัวให้ช้าลง ลองกินข้าวช้าลง เดินช้าลง พูดช้าลง หรือปรับวิถีชีวิตที่เคยเร่งรีบ เช่น ถ้าต้องเร่งรีบไปทำงานแต่เช้า ลองปรับเวลาตื่นนอนให้เช้าขึ้น เพื่อไม่ต้องรีบมาก หรือเผื่อเวลาเดินทางจะได้ไม่หงุดหงิดเวลาขับรถ ฯลฯ
- ประการที่สอง ตัดความเร่งรีบที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิต เช่น บริหารจัดการเรื่องนัดหมายไม่ให้ติดกันจนเกินไป เผื่อเวลาให้มากขึ้น หรือตัดบางนัดที่ไม่จำเป็นออกซะบ้าง
- ประการที่สาม เป็นประเด็นที่ดิฉันอยากจะเน้นอย่างมากก็คือเรื่อง การอ่านหนังสือ เพราะการอ่านหนังสือต้องมีสมาธิ ต้องอยู่กับตัวเอง ต้องคิดวิเคราะห์ ยิ่งถ้าเป็นหนังสือดีๆ ด้วยแล้ว การอ่านนำไปสู่การเรียนรู้ เป็นประตูสู่ปัญญา สู่การมองเห็นชีวิต มองเห็นโลกกว้าง และอื่นๆ อีกมากมาย
สิ่งที่ได้จากหนังสือหนึ่งเล่มที่นอกเหนือจากเรื่องราวในหนังสือแล้ว สิ่งที่ได้ตามมาก็คือ ความนิ่ง เพราะการอ่านต้องใช้สมาธิจดจ่อต่อเรื่องราวที่อ่าน แล้วยังเป็นจินตนาการจากตัวหนังสือ ยังไม่นับรวมหนังสือดีๆ ที่มีภาษาสละสลวยมีวรรณศิลป์ที่ล้ำค่า ก็เป็นการฝึกภาษาอีกต่างหาก แต่โลกทุกวันนี้ นับวันโลกของเทคโนโลยี และโลกของหนังสือยิ่งห่างออกจากกันเรื่อยๆ ยิ่งโลกที่เน้นความเร็วเป็นที่ตั้ง ยิ่งจำเป็นต้องแก้ด้วยการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรักการอ่านหนังสือตั้งแต่เล็ก
แต่ในยุคปัจจุบัน ผู้คนอ่านหนังสือน้อยลง ให้ความสำคัญกับหนังสือน้อยลง ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือเรียนหรือหนังสือภาคบังคับ ที่ต้องอ่านเพื่ออาชีพหน้าที่การงาน หรือไม่ก็เน้นไปทางด้านบันเทิงไปเลย หนังสือในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีก็เต็มไปด้วยสื่ออิเลคทรอนิกส์ หนังสือออนไลน์ ยิ่งจำเป็นต้องคืนความเป็นธรรมชาติด้วยการให้ลูกได้อ่านหนังสือมากขึ้นด้วย
ดิฉันชอบใจประโยคที่ รศ.เกริก ยุ้นพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เคยกล่าวไว้ว่า “นาฬิกาชีวิตของคนเรามันเปลี่ยนทุกขณะเวลาอย่างรวดเร็ว แต่หนังสือทำให้คนช้าลง เพราะหนังสือจะเป็นตัวฉุดให้นาฬิกาชีวิตสมดุลขึ้น ผมก็เลยอยากให้ย้อนกลับมาอ่านหนังสือ”
อาจารย์เกริก กล่าวว่า “วัฒนธรรมของคนไทยนิยมฟังมากกว่าอ่าน ซึ่งมันเกิดจากผู้ใหญ่ไม่อ่านให้เห็นเป็นตัวอย่าง เด็กก็เลยไม่ทำตาม ดังนั้นเราจะต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ดีก่อน มีคำกล่าวคำหนึ่งว่า ถ้าชาติใดเมืองใดให้ความสำคัญกับการอ่านและการเล่านิทานให้เด็กฟัง ชาตินั้นเมืองนั้นก็จะเจริญในแง่ของเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง และสังคม เพราะการอ่านคือการเติมเต็มแล้วก็พัฒนาในเรื่องของการดำรงชีวิต และก็สอนในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม”
เด็กที่เติบโตขึ้นมาโดยมีพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นผู้เล่านิทานให้ฟังมาโดยตลอด จนถึงวันที่เขาสามารถอ่านหนังสือเองได้ พบว่าเด็กจะอ่านหนังสือได้แตกฉานมากกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน และจะทำให้เด็กคนนั้นผูกพันกับหนังสือ จนนำไปสู่นิสัยรักการอ่านเมื่อเป็นผู้ใหญ่ นอกจากนี้ เนื้อเรื่องที่อ่านก็ยังกระตุ้นให้เกิดการสร้างภาพหรือจินตนาการ ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงเหตุการณ์และสามารถลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ส่งเสริมให้เกิดความคิดที่เป็นขั้นตอน และมีเหตุผล
แต่ในยุคนี้เมื่อผู้คนเอาความเร็วเป็นที่ตั้ง ผลผลิตของสรรพสิ่งและมวลมนุษย์จึงออกมาตอบสนองแค่ความเร็ว ยิ่งโลกเน้นเรื่องความเร็ว หรือ Speed เท่าไร เราควรต้องให้เด็กได้รู้จักความสงบความนิ่งมากเท่านั้น อย่างน้อยก็ทำให้เขาได้เรียนรู้ความนิ่งในสังคมเร่งรีบ..!!
ที่มา http://manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9560000035892
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ในบล็อกน้องแก้มหอม
พัฒนาการลูกรัก
การศึกษาไม่ทำให้คนฉลาดขึ้น
อ่านข่าวเรื่อง อากงส่ง sms ก็สะเทือนใจ ยิ่งหนักเข้าไปอีกก็คงเป็นคนที่ยังมีชีวิตอยู่ใช้คนตายเป็นเครื่องมือเพื่อหวังประโยชน์ไม่ว่าจะด้วยทางใด
แม่ลูกผูกพัน
น้องสาวชื่อ แก้มหอม
หลังจากที่คุณแม่คลอดพี่เปรมมาก่อนกำหนดเพราะท้องแค่ 7-8 เดือน
พัฒนาการลูกรัก
วิธีเลี้ยงลูกให้ E.Q. สูง
เผย 12 วิธีเลี้ยงลูกให้ดี เพิ่ม E.Q. ให้สูง วันนี้เราจะมาคุยกันด้วยเรื่องที่ต่อเดือนที่แล้วว่าจะเลี้ยงลูกให้มี E.Q. สูงได้อย่างไร
แม่ลูกผูกพัน
แก้มหอม รรรมิลรรภ์
หนึ่งเดียวในโลก หากจะถามว่า ทำไมตั้งชื่อลูกแบบนี้ ก็ไม่มีคำตอบ ถามต่อว่า ชื่อนี้แปลว่าอะไร ผมก็ไม่ได้สนใจคำแปล รู้แต่ว่าชื่อนี้ดี
แม่ลูกผูกพัน
วิถีธรรมชาติเพื่อการคลอดธรรมชาติ
มองไปทางไหนก็มีการคลอดหลายแบบไม่ว่าจะเป็นคลอดเอง ผ่าคลอด ใช้เครื่องมือช่วยคลอดล้วนแต่ทำให้หวั่นไหวไม่ใช่เล่นเลยนะคะ
พัฒนาการลูกรัก
สานสายใยรักแห่งครอบครัว
สมเด็จพระบรมโอร สาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์